นักลงทุนอุตสาหกรรมปศุสัตว์ กว่า 45,000 คน ร่วมชมงาน วิฟ เอเชีย 2019

สำหรับงาน วิฟ เอเชีย 2019 ที่เพิ่งจบไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมงานกว่า 45,000 รายตลอดสามวัน ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จในการจัดงานเป็นอย่างยิ่ง การันตีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าครั้งที่ผ่านมา

งาน วิฟ เอเชีย นั้นเป็นงานที่แสดงเกี่ยวกับเทคโนโลยี และงานสัมนาสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์น้ำ อันดับ 1 ของภูมิภาคเลยก็ว่าได้ ซึ่งยังครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์อาหารสัตว์ ไปจนถึงกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งสำหรับในปี 2019 ยังได้ก้าวไปอีกขั้้นหนึ่ง ด้วยจุดยืดที่แข็งแกร่งในด้านการดึงดูดนักลงทุนกว่า 120 ประเทศที่หลั่งไหลมาเข้าชมงาน ถือเป็นอัตราเติบโตสูงสุดถึงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับครั้งที่ผ่านมา แสดงให้เห็นได้ว่า นักลงทุนทั่วโลกนั้นได้ให้ความสำคัญ และให้ความเชื่อมั่นกับงานนี้เป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นงานที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมที่นักลงทุนหมายตา

“Bee Learning Center” ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง แห่งแรกของเอเชีย ณ ม.เกษตรฯ

“Bee Learning Center” หรือ ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง ตั้งอยู่ที่ บริเวณอาคารวิจัยกีฎวิทยา ด้านถนนวิภาวดีรังสิต อยู่ภายใต้ความดูแลของภาควิชา กีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกแบบอาคาร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรนาถ สินอุไรพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย แบบชั้นเดียว มีขนาดกะทัดรัด และมีการยกพื้นเพื่อให้มีพื้นที่ระเบียงใช้สอย ประตูบานใหญ่เปิดได้รอบ 3 ด้านของตัวอาคาร ในส่วนของหลังคา ทำช่องแสงธรรมชาติ เพื่อประหยัดพลังงาน และนอกจากนี้ ในส่วนของพื้นที่ใช้สอย สามารถยืดหยุ่นได้หลากหลายรูปแบบการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมศูนย์ การอบรม การประชุมขนาดเล็ก และยังเป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับผึ้งด้วย

Bee Learning Center ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง

เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. และทุกวันพุธ เวลา 9.00-10.00 น.จัดกิจกรรมสาธิตการเลี้ยงผึ้ง
สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ติดตามได้ในปฏิทิน ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง (Bee Learning Center) Fackbook: Bee learning หรือเวปไซต์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เฝ้าระวัง “ด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง” หวั่นทำตลาดส่งออกพัง

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ขณะนี้พบด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง หรือ Sternochetus olivieri (Faust) ซึ่งเป็นแมลงปีกแข็งที่จะกัดกินเมล็ดมะม่วง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 61 – 26 มิ.ย. 21 รวมทั้งสิ้น 12 ครั้งด้วยกัน ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นจำนานกว่า 10 ล้านบาทเลยทีเดียว
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอความร่วมมือเกษตรกรและผู้ส่งออกให้ตระหนักต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย
1. ผู้ส่งออกต้องซื้อมะม่วงจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP เท่านั้น
2. เกษตรกรต้องดำเนินการผลิตตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม GAP เน้นการป้องกันและควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดที่ถูกต้อง

การป้องกันและกำจัด

1) วิธีเขตกรรม ให้ดูแลเก็บผลมะม่วงสุกที่ถูกด้วงเข้าทำลายหรือเผาทิ้ง ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง กำจัดวัชพืช และหมั่นทำความสะอาดแปลง
2) ทางเคมี พ่นสารเคมีอิมิดาคลอพริด อัตราส่วน 5 – 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และแลมป์ด้าไซฮาโลทริน อัตราส่วน 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์พริด 5.85 อัตราส่วน 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ พ่น ล้างต้นและลงดินเพื่อฆ่าตัวแก่ ในระยะมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช
3) การควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดนอกแปลงปลูก เมล็ดมะม่วงที่โรงงานนำมาแปรรูปแล้ว ควรควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดด้วยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูมะม่วง
4) ผู้ส่งออกต้องตระหนัก และให้ความร่วมมือซื้อมะม่วงจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP เท่านั้น เพื่อลดปัญหาด้วงงวงเจาะเมล็ดกับมะม่วงที่ส่งออกไปยังปลายทาง

เอาใจคนรักหวาน สับปะรดสายพันธุ์ใหม่ “เพชรบุรี 2” คลอดแล้วจ้า

กรมวิชาการเกษตร ส่ง “เพชรบุรี 2” สับปะรดพันธุ์ใหม่ ลักษณะเด่น ผลทรงกระบอก แกนเล็ก ตาตื้น ช่วยลดการสูญเสียเนื้อเมื่อเข้าเครื่องปอก คุ้มแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง แถมค่าความหวานเฉลี่ยยังชนะพันธุ์ดั้งเดิมปัตตาเวียอีกด้วย

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า สับปะรดเป็นผลไม้ที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศไทย ปีละไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งงานวิจัยและพัฒนาส่วนมากที่ผ่านมา เน้นไปที่การเขตกรรม และการอารักขาพืช ทำให้พันธุ์สับปะรดที่ปลูกก็ยังคงเป็นสายพันธุ์เดิม ซึ่งปริมาณผลผลิตต่อไร่ โดยเฉลี่ยแล้ว อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งด้วยการปลูกพันธุ์เดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการกลายลักษณะที่ไม่พึงประสงค์มากยิ่งขึ้น

สับปะรดพันธุ์ใหม่ โดนใจอุตสาหกรรมแปรรูป

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การคัดเลือกสายต้นเป็นแนวทางการปรับปรุงพันธุ์วิธีการหนึ่งที่ใช้ระยะเวลาสั้น จึงได้ทำการคัดเลือกสายต้น โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ ที่ให้ผลผลิตที่ไม่น้อยลง และมีลักษณะที่เหมาะสมต่อการนำไปแปรรูปตามความต้องการของโรงงาน ซึ่งได้แก่ ผลมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ตาตื้น แกนผลเล็ก เพราะจะทำให้ได้เนื้อสำหรับการแปรรูปสูง มีอัตราการสูญเสียเนื้อต่ำ
จึงได้ดำเนินการคัดเลือกสายต้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สับปะรดพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่าพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า และมีลักษณะเหมาะสมสำหรับการแปรรูปตรงตามความต้องการของโรงงาน ได้แก่ ผลมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ตาตื้น แกนผลเล็ก เพื่อให้ได้ปริมาณเนื้อสำหรับแปรรูปสูง และมีอัตราการสูญเสียเนื้อต่ำ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ได้เริ่มดำเนินการวิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2534 และประสบความสำเร็จได้สับปะรดพันธุ์ใหม่ผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรในปี พ.ศ. 2562 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2” โดยมีลักษณะเด่น คือ
1. มีอัตราส่วนน้ำหนักเนื้อต่อน้ำหนักผลเฉลี่ยเท่ากับ 0.29 ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย
2. แกนผลเล็ก
3. ตาตื้น ความลึกตาเฉลี่ย 0.73 – 0.81 ซม.
4. มีผลทรงกระบอกซึ่งเหมาะสำหรับการบรรจุกระป๋อง
5. ค่าความหวานเฉลี่ย 13.9 – 17.9 องศา บริกซ์

สกสว. จับมือ มูลนิธิข้าวไทยฯ เกื้อหนุนชาวนาไทย ให้ก้าวไกลในยุคดิจิทัล

ในวันที่ 16 ธ.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคีองค์กรพันธมิตร จัดการประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2562 หัวข้อเรื่อง “การปรับตัวของชาวนาไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ห้องประชุมสุธรรมอารีกุล อาคารสารสนเทศ 50 ปี ผู้กล่าวเปิดงาน คือ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทยฯ โดยวัตถุประสงค์การจัดอบรมครั้งนี้ คือเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพื่อหาความร่วมมือในการกำหนดทิศทาง รวมทั้งสร้างยุทธศาสตร์เศรษฐกิจข้าว และชาวนาไทย ภายใต้ฐานเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

การประชุมครั้งนี้ ได้มีการเสวนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในเรื่องการปรับตัวของชาวนาไทย จากชาวนาไทยมืออาชีพ ซึ่งมาถ่ายทอดประสบการณ์จากการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสำเร็จ อาทิเช่น การใช้โดรน การใช้แอพบนมือถือ หรือระบบเซ็นเซอร์เพื่อทำการตรวจวัด ควบคุม ถ่ายภาพ และวิเคราะห์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ทำให้ชาวนาไทย ก้าวไกลสู่การเป็น “Smart Farmer” ได้

นอกจากนั้น ทางสกสว. ยังได้มีการแนะนำแอพบนมือถือเพื่อชาวนา นั่นคือ

1. ไลน์บอทโรคข้าว

ซึ่งพัฒนาโดยการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการวินิจฉัยและให้คำแนะนำการควบคุมโรคข้าว

2. คลินิกข้าว RD

กลุ่มไลน์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ชาวนาได้เข้าถึงเทคโนโลยี ที่ช่วยป้องกัน และกำจัดศัตรูข้าว และบริการตอบปัญหาต่างๆเกี่ยวกับข้าว

3. รีคัลท์

แอพพลิเคชั่นพยากรณ์ฝนที่แม่นยำ

สุดยอด! ผลวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่มสับปะรดราชบุรี 23 เรื่อง โดยราชภัฏจอมบึง

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 มีการเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับ แผนงานวิจัย เรื่องการบูรณาการการพัฒนาปัจจัยการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการบริหารจัดการ การตลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดราชบุรี โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง โดยมี นาย วิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธี และ ผศ.ดร. ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทนอธิการบดี ผศ.ดร.ชฎาพร โพคัยสวรรค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะอาจารย์ นักวิจัย ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลงานวิจัย

โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาปัจจัยการผลิต

โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาปัจจัยการผลิต จำนวน 7 เรื่อง ได้องค์ความรู้และนวัตกรรม ดังนี้

1) การขยายสายพันธุ์สับปะรด MD2 ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ การแคะหน่อและการตัดดอก

2) การบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต

3) สูตรปุ๋ยที่เพิ่มความหวานให้สับปะรด

4) การใช้ภูมิปัญญา ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและลดระยะเวลาการปลูก

5) การจัดการหน่อพันธุ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต

6) เว็บแอพลิเคชั่นสำหรับวางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดราชบุรีสู่ การเป็น smart farmer และ

7) เว็บแอพลิเคชั่นวัดความหวานผ่านสมาร์ทโฟน

โครงการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

โครงการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 11 เรื่อง ได้องค์ความรู้และนวัตกรรม ดังนี้

1) ความเป็นไปได้ เชิงพาณิชย์ของการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากสับปะรด

2) ผลิตภัณฑ์สบู่เอนไซม์สับปะรด

3) ผลิตภัณฑ์ผงบำรุงฟัน Bromedent

4) ผลิตภัณฑ์ผงขัดตัว

5) ผลิตภัณฑ์ เจลให้พลังงานสูงสำหรับสับปะรด

6) ผลิตภัณฑ์ไซรัปสับปะรด

7) กล้าเชื้อแบคทีเรียสำเร็จรูปชนิดผงสำหรับ ผลิตน้ำไซเดอร์

8) วัตถุดิบอาหารสัตว์

9) ตราสินค้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น

10) บรรจุภัณฑ์เล่าเรื่อง

11) ถุงพลาสติกชีวภาพยืดอายุสับปะรด

โครงการวิจัยเพื่อบริหารจัดการการตลาด

โครงการวิจัยเพื่อบริหารจัดการการตลาด จำนวน 5 เรื่อง ได้องค์ความรู้และนวัตกรรม ดังนี้

1) ความต้องการซื้อสับปะรดผลสดและผลิตภัณฑ์แปรรูป

2) ช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยเว็บไซต์พาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์

3) ช่องทางการจำหน่ายด้วยแพลตฟอร์มสมัยใหม่ต้นทุนต่ำ

4) ช่องทางการจำหน่ายแบบ ออฟไลน์

5) รูปแบบการบริหารจัดการการขาย นอกจากนี้ยังได้พัฒนาฐานข้อมูลสับปะรดจังหวัดราชบุรีในรูปแบบของ web interface เพื่อสนับสนุนการวางแผนการผลิตสับปะรดของจังหวัดราชบุรี